เกี่ยวกับเรา

Hub of Talents: Postharvest technology

ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (Hub of Talents: Postharvest Technology)
จากแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวของประเทศไทยด้วยการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวในหลากหลายสาขาวิชามาร่วมกันคิด วิเคราะห์ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทางการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ดังนี้

  1. เพื่อเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม
  2. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถทักษะที่สำคัญ (upskill/reskill) และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  3. เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่สำคัญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  4. เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่สำคัญเร่งด่วนร่วมกัน
  5. เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่การนำไปใช้ประโยชน์

ประสานความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนและผลักดัน เพื่อยกระดับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวร่วมกัน ดำเนินการพัฒนางานวิจัยและกำลังคนด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่เป็นที่ต้องการของประเทศ และนำองค์ความรู้สู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งกลุ่มนักวิจัยภายใต้ศูนย์ฯ และนักวิจัยด้านการจัดการเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแกนนำ ร่วมกับมหาวิทยาลัยร่วม 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกันดำเนินงานรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ในด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest technology)  ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (Hub of talents : Postharvest technology)

ภายใต้โครงการนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ในหลากหลายสาขาวิชาทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมกันระดมสมอง และองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาสำคัญ ได้แก่ การจัดการทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว การแก้ไขปัญหาการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวผักเศรษฐกิจ และปัญหาทางด้านการจัดการของเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นผ่านการจัดอบรม ให้คำปรึกษา ตลอดจนมีการระดมสมองร่วมกันเพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงลึกในการแก้ไขปัญหาทางด้านหลังการเก็บเกี่ยว และการพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการวิจัยขั้นสูงสำหรับการวิเคราะห์และการตรวจรับรอง เป็นต้น   

นอกจากนี้ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ และจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้ เผยแพร่ฐานข้อมูลนักวิจัยและห้องปฏิบัติการวิจัยของหน่วยงานในสังกัดของศูนย์ฯ เพื่อเผยแพร่แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของโครงการและสาระความรู้ เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ที่สนใจในเรื่องดังกล่าวมาร่วมมือกันให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และคำแนะนำในการขับเคลื่อนด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวสำหรับประเทศไทยต่อไป 


thThai